เป้าหมายหลักเวลาคุณครูเล่านิทาน กับเด็ก ๆ คือ การอยากส่งต่อ " การรักการอ่าน " ไปให้ถึงในใจของเด็ก ๆ ให้เขาเห็นว่าในหนังสือเเต่ล่ะหน้ามีเรื่องราวซ่อนอยู่
เกือบทุกครั้งในการเล่านิทาน คุณครูจะเลือกนิทานที่มีธีมตรงกับกิจกรรมในวันนั้น ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ ต่อยอดการเรียนรู้ในหัวได้ด้วยตนเอง ส่วนได้เเบบไหน เราเปิดกว้าง
เวลาเล่านิทานจริง ๆ คุณครูจึงยืดหยุ่นเรื่องท่านั่ง ขอเพียงอยู่ภายใต้กติกากลุ่มใหญ่ได้ก่อน ทั้งนี้ต้องมาดูพัฒนาการตามวัยอีกที ด้วยความเป็นชั้นคละ หลากหลายวัย หากเราออกโจทย์ยากน้องเล็กก็ทำไม่ได้ หรือโจทย์ง่ายไปก็ไม่ท้าทายพี่โต สุดท้ายเราขอความร่วมมือเด็ก ๆ ไม่ทำเสียงรบกวนเพื่อนที่ฟัง เเละอยู่ในพื้นที่ที่ตกลงกันไว้ ที่เหลือเด็ก ๆ จะคอยสังเกตเเละจัดตัวเองได้เอง ว่าตัวสูงนั่งหน้าจะบังเพื่อน ตัวเล็กไป นั่งหลังไม่เห็น
ในช่วงเวลาเล่านิทานหากเรามาทำงานเรื่องวินัย ต้องนั่งเป็นระเบียบ ตัวตรง ห้ามคุย กลายเป็นว่าคุณได้เด็กที่มีระเบียบจริง เเต่คุณจะไม่ได้ผลิตนักอ่านหน้าใหม่ เมื่อเด็ก ๆ ไม่สนุกกับการฟังนิทาน ต้องไปโฟกัสเรื่องอื่นเเทนเพราะกลัวโดนดุ ไม่แปลกที่เขาจะไม่อยากอ่านนิทานเเละหนังสืออื่น ๆ ในอนาคตเพราะประสบการณ์ตอนฟังนิทานไม่น่าประทับใจ
ที่สำคัญไม่เเพ้กันสำหรับการเลือกนิทานหรือเทคนิคการเล่านิทาน คือ การเตรียมความพร้อมเด็กก่อนเล่านิทานให้เขาค่อย ๆ พาตัวเองออกมาจากกิจกรรมก่อนหน้าเเละกลับมาอยู่กับกิจกรรมตรงหน้า
Comments